วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประกันสังคม แจง ผู้ประกันตนหญิงสามารถใช้สิทธิรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ ( เรื่อง ประกันสังคม แจง ผู้ประกันตนหญิงสามารถใช้สิทธิรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกได้) ประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2555

                  สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจง ผู้ประกันตนหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีสามารถใช้สิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งไม่เสียค่าใช้จ่าย หากพบมะเร็งให้นำผลตรวจมารับการรักษาที่ รพ.ตามบัตรรับรองสิทธิฯ ได้ทันที
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยว่า ผู้ประกันตนมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาโรคมะเร็งตั้งแต่ตรวจพบในระยะแรกได้ โดยผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิได้ทันที ทั้งนี้การตรวจเพื่อคัดกรองมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะแรกของการเจ็บป่วย ซึ่งมีโอกาสในการรักษาให้หายสูงโดยเบิกจากงบประมาณในการสร้างเสริมสุขภาพของผู้ประกันตนที่รัฐบาลได้จัดสรรผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประจำทุกปี กรณีที่เป็นผู้ประกันตนหญิง ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากตรวจพบมะเร็ง ให้นำผลตรวจมารับการรักษาที่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ได้ทันที
ปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคมมีระบบการชดเชยค่ารักษาพยาบาลสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างเหมาะสม นอกเหนือจากเงินเหมาจ่ายที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ แล้ว สำนักงานประกันสังคมยังมีระบบการชดเชยเสริมให้กับสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มเติม ได้แก่
-ชดเชยค่าภาระเสี่ยงกรณีการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน
-ชดเชยค่าเคมีบำบัด รังสีรักษา ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 50,000 บาท/ราย/ปี
-การจ่ายยากรณีการรักษาโรคมะเร็งตามแนวทางและอัตราที่กำหนด (ไม่เกิน 272,100 บาท/ราย/ปี)
-การชดเชยด้วยยาโรคมะเร็งตามบัญชียาหลักแห่งชาติ จ(2)
-กรณีที่มีการพักรักษาตัวในสถานพยาบาลหากมีค่าใช้จ่ายสูง (น้ำหนักสัมพัทธ์มากกว่าหรือเท่ากับ 2 สถานพยาบาลยื่นเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสำนักงานประกันสังคมได้ในอัตราไม่เกิน 15,000 บาทต่อน้ำหนักสัมพัทธ์)
ในกรณีที่สถานพยาบาลฯ ปฏิเสธการรักษา ผู้ประกันตนร้องเรียนมาได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการบทลงโทษขั้นเด็ดขาด ตั้งแต่ตักเตือน ลดศักยภาพ จนถึงขั้นยกเลิกสัญญา หากกรณีสถานพยาบาลให้การรักษาผู้ประกันตนไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ สำนักงานฯ จะส่งเรื่องให้แพทยสภาดำเนินการ ดังนั้น ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจในระบบการรักษาพยาบาลของประกันสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น