วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

ประกันสังคม เตรียมพร้อมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด

ข่าวประชาสัมพันธ์    ประจำวันที่   10   กันยายน  2555




           ประกันสังคม เตรียมพร้อมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด นายจ้างค้างชำระเงินสมทบแล้วไม่นำส่ง

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เอาจริงใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับนายจ้างค้างชำระเงินสมทบ จำนวน 32,385 ราย เตรียมจับมือกรมสรรพากรเก็บเงินสมทบพร้อมภาษี พร้อมใช้มาตรการเฝ้าระวัง ทั้งฺแบล็กลิส (Black list) คาดปี 56 ลดลง ครึ่งต่อครึ่ง
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยต่อสื่อมวลชนกรณีนายจ้างติดค้างชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เหตุนายจ้างหักเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง ผู้ประกันตนแล้วไม่นำส่งสำนักงานประกันสังคม ซึ่งจากการประมวลผลข้อมูลหนี้ค้างชำระ ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2555 พบหนี้ค้างชำระลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2555 คือจำนวนสถานประกอบการค้างชำระจำนวน 33,071 ราย จำนวนเงิน 4,047 ล้านบาท ลดลงเหลือ 32,385 ราย จำนวนเงิน 3,980 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้แยกตามสถานะของสถานประกอบการ คือ สถานะ (A) นายจ้างยังประกอบกิจการอยู่เป็น จำนวน 18,412 ราย จำนวนเงิน 2,240 ล้านบาท สถานะ (S) หยุดกิจการไปแล้ว จำนวน 13,335 ราย จำนวนเงิน 1,660 ล้านบาท และสถานะ (C) เลิกกิจการกับกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 638 ราย จำนวนเงิน 78 ล้านบาท
ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้มีแนวทางมาตรการดำเนินการกับนายจ้างที่ติดค้างชำระหนี้ตามขั้นตอน คือ แจ้งเตือนและเชิญพบ กรณีนายจ้างมาพบจะได้รับหนังสือรับสภาพหนี้โดยมีหลักทรัพย์ หรือบุคคลค้ำประกัน หากผิดนัดไม่ชำระ 2-3 ครั้ง จะดำเนินการกับบุคคลหรือหลักทรัพย์ทันที หากในกรณีนายจ้างไม่มาพบตามหนังสือเชิญ สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินคดีขัดคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้จะจัดส่งรายชื่อนายจ้างชำระหนี้และประวัติไม่ดีให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวังและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยกัน ในกรณีที่นายจ้างต้องการความช่วยเหลือทางด้านที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน ทางสำนักงานประกันสังคมจะจัดส่งคณะทำงานเข้าช่วยเหลือ สำหรับนายจ้างที่มีเจตนาไม่ชำระเงิน หรือไม่ใส่ใจในข้อกฎหมายใดๆ เลยจะใช้มาตรการดำเนินการยึด อายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน และหากมีมูลหนี้สูงจะทำการฟ้องล้มละลาย สำหรับนายจ้างที่ปิดกิจการไปแล้ว หากสำนักงานประกันสังคมติดตามนายจ้างได้ก็จะดำเนินการเช่นเดียวกับ สถานประกอบการสถานะยังดำเนินกิจการอยู่ แต่หากไม่สามารถติดตามนายจ้างได้ หรือคดีหมดอายุความตามกฎหมายแล้วจะดำเนินการปรับปรุงค่าหนี้ทางบัญชีให้เหลือเป็นหนี้จริงเท่านั้น

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

ประกันสังคม แจง เรื่อง รักษา “มะเร็ง”

ข่าวประชาสัมพันธ์  ประจำวันที่ 3  กันยายน  2555



 ประกันสังคม แจง เรื่อง รักษา “มะเร็ง”

                         สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้ความคุ้มครองรักษาแก่ผู้ประกันตนครอบคลุมทุกโรค รวมถึงโรคมะเร็ง ผู้ประกันตนจะได้รับการรักษาจาก รพ.ตามมาตรฐานการรักษาของราชวิทยาลัยภายใต้การกำกับดูแลของแพทยสภา
             นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยว่า สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองการรักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนครอบคลุมทุกโรค รวมถึงโรคมะเร็ง ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเป็นโรคมะเร็ง จะได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานการรักษาของราชวิทยาลัยภายใต้การกำกับดูแลของแพทยสภา หากสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิไม่มีศักยภาพในการรักษาพยาบาล แต่สถานพยาบาลจะต้องมีระบบการส่งตัวไปรักษาในสถานพยาบาลระดับสูง ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมมีกลไกในการกำกับตรวจสอบคุณภาพการรักษาของสถานพยาบาลอย่างเข้มงวดโดยคณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ และการพยาบาล และมีบทลงโทษสำหรับสถานพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ประกันตนไม่ได้ตามมาตรฐานหรือปฏิเสธการรักษาผู้ประกันตน ตั้งแต่ตักเตือน ลดศักยภาพ จนถึงขั้นยกเลิกสัญญา หากกรณีสถานพยาบาลให้การรักษาผู้ประกันตนไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ สำนักงานฯ จะส่งเรื่องให้แพทยสภาดำเนินการ นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคมยังมีระบบการชดเชยค่ารักษาพยาบาล เฉพาะสำหรับโรคมะเร็ง โดยให้สถานพยาบาลขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามข้อมูลการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน รวมทั้งยังทำให้สถานพยาบาลได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่าย ดังนั้น ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจในระบบบริการทางการแพทย์ของประกันสังคมได้ว่าไม่ด้อยไปกว่าระบบการรักษาพยาบาลของกองทุนประกันสุขภาพอื่น แต่อย่างไรก็ตามสำนักงานประกันสังคมยังคงพัฒนาระบบการบริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนต่อไป หากมีปัญหาข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ทุกแห่ง หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง)

วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

รมว.แรงงาน เผย ผลตอบแทนการลงทุน 2 กองทุน สปส. มีเงินกำไรสะสม 256,236 ล้านบาท

ข่าวประชาสัมพันธ์  

            รมว.แรงงาน เผย ผลตอบแทนการลงทุน 2 กองทุน สปส. มีเงินกำไรสะสม 256,236 ล้านบาท
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์) เผยรายรับจากการลงทุนปี 55 กองทุนประกันสังคม จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า 40,000 ล้านบาท ส่วนกองทุนเงินทดแทนในครึ่งปีแรก จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวน 733 ล้านบาท
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยผลการบริหารกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ดังนี้
กองทุนประกันสังคม
สถานะเงินลงทุน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2555 กองทุนประกันสังคม มีเงินลงทุนรวม 920,809 ล้านบาท ประกอบด้วย
- กรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ 801,230 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินออมของผู้ประกันตน จำนวนกว่า 10 ล้านคนที่สำนักงานประกันสังคมสะสมไว้เตรียมจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีบำนาญชราภาพ โดยจะเริ่มจ่ายในปี พ.ศ. 2557
- กรณีเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร 54,546 ล้านบาท
- กรณีว่างงาน 64,330 ล้านบาท
- ม.40 (แรงงานนอกระบบ) 703 ล้านบาท
โดยเงินลงทุนทั้งหมดนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหุ้นกู้เอกชน ร้อยละ 80 และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ เงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้อื่น หน่วยลงทุน และหุ้นสามัญ ร้อยละ 20
ผลตอบแทนการลงทุน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 กองทุนประกันสังคมได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวน 21,139 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งได้รับผลตอบแทน 17,831 ล้านบาท นับว่ากองทุนได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 18.55%
ทั้งนี้ นับตั้งแต่จัดตั้งสำนักงานประกันสังคมเมื่อปี พ.ศ. 2533 กองทุนประกันสังคมมีเงินสมทบสะสม จำนวน 664,573 ล้านบาท เงินดังกล่าวได้นำไปลงทุนและได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนกำไรสะสม จำนวน 256,236 ล้านบาท
กองทุนเงินทดแทน

วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประชาสัมพันธ์ วันวิทยาศาสาตร์ ราชภัฏวิชาการ 17 - 19 2555

ประชาสัมพันธ์ วันวิทยาศาสาตร์  ราชภัฏวิชาการ 17 - 19 2555
 



มีกิจกรรม  อาทิ เช่น

การประกวด/แข่งขัน
1.กิจกรรมการประกวด Science Show
2.การแข่งขันตอบปัญหาทักษะวิชาการทางเคมี
3.ตอบปัญหาสิ่งแวดล้อม
4.การแข่งขันแอโรบ็อกซ์
5.แข่งขัน E-book ระดับประถมศึกษา
6.แข่งขัน E-book ระดับมัธยมศึกษา
7.แข่งขันตอบ ปัญหาไอที
8.ประกวดวงดนตรี
9.แข่งขันสร้างการ์ตูนแอนิเมชัน 2 มิติ
10.แข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ระดับมัธยม
11.แข่งขันการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ระดับปวส. ปริญญาตรี หรือ บุคคลทั่วไป
12.ประกวดจัดสวนถาด
13.ประกวดกล้วยไม้
14.สอบวัดความรู้ ทางคณิตศาสตร์
15.ประกวด โครงงานคณิตศาสตร์
16.ประกวดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้
17.แข่งขันเพาะกายชาย
18.การแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

แนะผู้ประกันตนยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรควบกรณีสงเคราะห์

ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 6 ส.ค 2555
ประกันสังคม แนะผู้ประกันตนยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรควบกรณีสงเคราะห์บุตรด้วย
          สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แนะผู้ประกันตนยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรครั้งละ 13,000 บาท อย่าลืม ยื่นขอรับสิทธิกรณีสงเคราะห์บุตร 400 บาท/เดือน คราวละไม่เกิน 2 คน รับสิทธิได้ในช่วงแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี
          นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แนะผู้ประกันตนชาย หญิง มีสิทธิได้รับค่าคลอดบุตร คนละ 2 ครั้ง โดยผู้ประกันตนหญิง สามารถคลอดบุตรที่สถานพยาบาลใดก็ได้ แล้วนำสูติบัตรของบุตร สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน มาเบิกเงินที่สำนักงานประกันสังคม จะได้รับค่าคลอดบุตรเหมายจ่ายจากสำนักงานประกันสังคม จำนวน 13,000 บาท รวมทั้งได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรอีก ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน กรณีเป็นผู้ประกันตนชาย ที่มีภริยาจดทะเบียนสมรสหรือหญิงซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยา แต่มิได้จดทะเบียนสมรส สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ โดยนำสำเนาสูติบัตรบุตร สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี) หรือหนังสือรับรองกรณีมีทะเบียนสมรส (เฉพาะกรณีผู้ประกันตนใช้สิทธิแล้วไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับภริยา) มาเบิกเงินที่สำนักงานประกันสังคม จะได้รับเฉพาะเงินค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย จำนวน 13,000 บาท
          อย่างไรก็ตามขอแนะนำให้ผู้ประกันตนยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาทต่อบุตรหนึ่งคน สำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 ปี บริบูรณ์  คราวละไม่เกิน 2 คน โดยการขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีดังกล่าว ผู้ประกันตนจะต้องมีการนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ทั้งนี้ การขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีดังกล่าว ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิเบิกเงินสงเคราะห์บุตรได้คราวละไม่เกิน 2 คน ในกรณีการใช้สิทธิของผู้ประกันตนหญิงจะต้องยื่น (สปส.2-01) พร้อมแนบหลักฐานประกอบ ได้แก่ สูติบัตรตัวจริงของบุตรพร้อมสำเนา (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสูติบัตรของคู่แฝดด้วย) สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาสมุดบัญชีธนาคารออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขบัญชีของผู้ประกันตนของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หากใช้สิทธิของผู้ประกันตนชาย จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น โดยจะต้องแนบหลักฐานข้างต้นเหมือนกับการใช้สิทธิของผู้ประกันตนหญิงแต่จะต้องมีหลักฐานเพิ่มอีกอย่างหนึ่งคือ สำเนาทะเบียนสมรส หรือหนังสือรับรองบุตร (กรณีไม่ได้ จดทะเบียนสมรส) มีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง)

วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประกันสังคม แจง ผู้ประกันตนหญิงสามารถใช้สิทธิรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ ( เรื่อง ประกันสังคม แจง ผู้ประกันตนหญิงสามารถใช้สิทธิรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกได้) ประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2555

                  สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจง ผู้ประกันตนหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีสามารถใช้สิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งไม่เสียค่าใช้จ่าย หากพบมะเร็งให้นำผลตรวจมารับการรักษาที่ รพ.ตามบัตรรับรองสิทธิฯ ได้ทันที
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยว่า ผู้ประกันตนมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาโรคมะเร็งตั้งแต่ตรวจพบในระยะแรกได้ โดยผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิได้ทันที ทั้งนี้การตรวจเพื่อคัดกรองมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะแรกของการเจ็บป่วย ซึ่งมีโอกาสในการรักษาให้หายสูงโดยเบิกจากงบประมาณในการสร้างเสริมสุขภาพของผู้ประกันตนที่รัฐบาลได้จัดสรรผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประจำทุกปี กรณีที่เป็นผู้ประกันตนหญิง ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากตรวจพบมะเร็ง ให้นำผลตรวจมารับการรักษาที่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ได้ทันที
ปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคมมีระบบการชดเชยค่ารักษาพยาบาลสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างเหมาะสม นอกเหนือจากเงินเหมาจ่ายที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ แล้ว สำนักงานประกันสังคมยังมีระบบการชดเชยเสริมให้กับสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มเติม ได้แก่
-ชดเชยค่าภาระเสี่ยงกรณีการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน
-ชดเชยค่าเคมีบำบัด รังสีรักษา ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 50,000 บาท/ราย/ปี
-การจ่ายยากรณีการรักษาโรคมะเร็งตามแนวทางและอัตราที่กำหนด (ไม่เกิน 272,100 บาท/ราย/ปี)
-การชดเชยด้วยยาโรคมะเร็งตามบัญชียาหลักแห่งชาติ จ(2)
-กรณีที่มีการพักรักษาตัวในสถานพยาบาลหากมีค่าใช้จ่ายสูง (น้ำหนักสัมพัทธ์มากกว่าหรือเท่ากับ 2 สถานพยาบาลยื่นเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสำนักงานประกันสังคมได้ในอัตราไม่เกิน 15,000 บาทต่อน้ำหนักสัมพัทธ์)
ในกรณีที่สถานพยาบาลฯ ปฏิเสธการรักษา ผู้ประกันตนร้องเรียนมาได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการบทลงโทษขั้นเด็ดขาด ตั้งแต่ตักเตือน ลดศักยภาพ จนถึงขั้นยกเลิกสัญญา หากกรณีสถานพยาบาลให้การรักษาผู้ประกันตนไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ สำนักงานฯ จะส่งเรื่องให้แพทยสภาดำเนินการ ดังนั้น ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจในระบบการรักษาพยาบาลของประกันสังคม

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ข่าวประชาสัมพันธ์ เรื่องข้อเสนอโครงการวิจัย


ขอเชิญจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย ตามกรอบการดำเนินงานวิจัย ประจำปี ๒๕๕๕

เรื่อง การพัฒนาระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าว และแรงงานไทยที่ทำงานต่างประเทศ (รายละเอียด)

เพื่อขอรับทุนอุดหนุนการวิจัยกองทุนประกันสังคม ประจำปี ๒๕๕๕กำหนดส่งข้อเสนอโครงการวิจัย ภายในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕

ทั้งนี้ การพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัยดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการฝ่ายงานวิจัย สำนักงานประกันสังคม มติของที่ประชุมคณะอนุกรรมการฝ่ายงานวิจัยถือว่าสิ้นสุด)

เงื่อนไขการรับทุนอุดหนุนการวิจัย ต้องมีหนังสือค้ำประกันสัญญา(จำนวนร้อยละ ๕ ของวงเงินทุนวิจัย)  โดยยกเว้น ๓ กรณี ได้แก่

๑. หน่วยงานภาครัฐ (ไม่จำกัดวงเงิน)

๒. บุคคลธรรมดาที่ขอรับการสนับสนุนทุนวิจัย วงเงินไม่เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท

๓. ผู้รับทุนวิจัยที่สำนักงานประกันสังคมร้องขอให้ดำเนินการวิจัย

รายละเอียด ประกอบด้วย

๑. ข้อกำหนดงานวิจัย (TOR) 

๒. แบบเสนอโครงการวิจัย